สหภาพยุโรปและสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประกาศโครงการฯ ร่วมเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย
ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรอันยาวนานของประเทศไทยที่สนับสนุนและทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของค่านิยมสากล ไม่ว่าจะด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน เรามีความยินดีที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการยุติการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วยการบังคับใช้พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งนี้สภาพยุโรปสนับสนุนการสร้างสรรค์สังคมที่ปราศจากการทรมานและความรุนแรง”
“ผ่านไปแล้วหนึ่งปีหลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฯ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย เรายินดีที่เห็นรัฐบาลไทยจะจัดทำแนวทางปฏิบัติการและข้อบังคับต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.ฯ โดยแนวทางปฏิบัติการและข้อบังคับต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีการเสริมสร้างศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.ฯ เป็นไปอย่างมีสิทธิภาพ” นางสาวซินเธีย เวลิโก้ (Cynthia Veliko) ผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเทพมหานคร กล่าว
โครงการร่วมระหว่างสหภาพยุโรปและสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีจุดประสงค์ในการสร้างความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะทำหน้าที่สอบสวนข้อร้องเรียนการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย อีกทั้งยังมุ่งสนับสนุนการร่างแนวทางการติดตามที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดตั้งกลไกการรายงานข้อเท็จจริงที่เป็นความลับ
โครงการฯ ยังมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถป้องกันและรับมือกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกรอบกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ พัฒนาการตอบสนองของผู้ที่กี่ยวข้องในทุกระดับ สนับสนุนการจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอิสระในระดับประเทศเพื่อติดตาม บันทึกข้อมูล และรายงานการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงเพิ่มความตระหนักรู้ของสาธารณชนที่มีต่อกฏหมายใหม่ฉบับนี้ และเสริมสร้างพลังให้กับผู้เสียหายและครอบครัวในการเรียกร้องสิทธิของตน
ประเทศไทยบังคับใช้พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประกาศใช้พ.ร.บ. ฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยุติการทรมาน การกระทำทารุณ และการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยให้หมดสิ้น ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ในปี พ.ศ. 2550 และได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) ในปี พ.ศ. 2555 โดยยังไม่มีการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าว
ข้อมูลติดต่อ
หากต้องการข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
วรรณภร สมุทรอัษฎงค์ สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเทพมหานคร
ธนภรณ์ สาลีผล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย