สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย: ฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ
ฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ
เปิดรับความหลากหลาย ส่งเสริมความเท่าเทียม และยืนหยัดเพื่อความรักและการยอมรับ มาร่วมมือกันเพื่อโลกที่ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น
EUDEL Thailand
วันที่ 4 มิถุนายน 2566 สหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมเดินขบวนบางกอกไพรด์ 2023 ฉลอง Pride Month เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศเป็นค่านิยมสำคัญของสหภาพยุโรป นอกจากภารกิจในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTIQ แล้ว ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทยจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรปและคณะผู้แทนของสหภาพยุโรปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการโพสต์เรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยผ่านแคมเปญ Pride Heroes บนโซเซียลมีเดียด้วย
เราขอแนะนำ คุณชิษณุพงศ์ นิธิวนา (เบส) ประธานร่วมและผู้แทนเยาวชน ของคณะกรรมการบริหาร สมาคมอิลก้า เอเซีย (ILGA Asia) นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ก่อตั้ง Young Pride Club พื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนที่สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและ LGBTIQ+ ในจังหวัดเชียงใหม่
EU
คุณชิษณุพงศ์ ได้แบ่งปันความคิดเห็นของเธอว่าเหตุใดการปกป้องสิทธิมนุษยชนของ LGBTIQ+ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เธอกล่าวว่า “เยาวชนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับโลกในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่เสียงของเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะถูกมองข้ามในกระบวนการตัดสินใจ”
คุณชิษณุพงศ์ยังกล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินการจากทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยกันพยายามอย่างจริงจังในทุกระดับให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการตัดสินใจ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าความรับผิดชอบต่อการปกป้องสิทธิของ LGBTIQ+ ไม่ใช่สิ่งที่สามารถรอให้คนรุ่นหลังมาผลักดัน แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันดำเนินการในทันที
EUDEL
นอกจากนี้ เราขอแนะนำ คุณอันธิฌา แสงชัย ผู้ก่อตั้ง “ห้องเรียนบูคู” องค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานีที่มุ่งสร้างความตระหนักในสังคมเกี่ยวกับเพศภาวะ เพศวิถี และสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและความยุติธรรมทางเพศ นอกจากนี้คุณอันธิฌายังเป็นผู้ก่อตั้ง บูคู เอฟซี ฟุตบอลคลับที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เล่นฟุตบอลในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
คุณอันธิฌาได้แบ่งปันความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนประเด็นของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ Communities) ว่าภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนคือกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนประเด็นที่มีผู้ได้รับผลกระทบดังนั้นภาคประชาชนจึงเปรียบเสมือนกระบอกเสียงที่สื่อสารความต้องการของชุมชนให้ออกไปสู่วงกว้างและเชื่อมโยงทรัพยากรไปสู่ชุมชนด้วย คุณอันธิฌาอธิบายต่อว่า ในชุมชนที่มีอัตลักษณ์เชิงซ้อน เช่น ชุมชนชาติพันธ์ หรือ ชุมชนศาสนา ประเด็นเรื่องเพศจะถูกกดทับอย่างชัดเจน จึงอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานเป็นสิบปีในการสร้างความเข้าใจ “ถึงแม้ว่ามันจะยากก็ตาม แต่ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมีตัวตนจริงในสังคม” เธอกล่าว
รู้หรือไม่?
สหภาพยุโรป เป็นหนึ่งในองค์กรแรกที่ให้การยอมรับอย่างชัดเจนว่ารสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติในทางกฎหมาย โดยในสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัมที่ลงนามในปี พ.ศ. 2540 ให้อำนาจสหภาพยุโรปในการปรับใช้มาตรการเพื่อจัดการกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่างๆ รวมถึงเหตุแห่งเพศและรสนิยมทางเพศ
คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุมัติการใช้ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมของ LGBTIQ ระหว่างปี ค.ศ. 2020-2025 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์แรกของคณะกรรมาธิการในด้านความเท่าเทียมของ LGBTIQ และเป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของคณะกรรมาธิการยุโรปในการสร้างสหภาพแห่งความเท่าเทียม
สหภาพยุโรปยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับโครงการที่มุ่งต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระดับนานาชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นการให้เงินสนับสนุนผ่านทาง European Instrument for Democracy and Human Rights (EIDHR)
EUDEL Thailand