This isn't an official website of the European Union

วันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป วันที่ 10 ตุลาคม 2567: แถลงการณ์ร่วมโดยผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและเลขาธิการคณะมนตรียุโรป

โทษประหารชีวิตเป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี สื่อถึงการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นสูงสุด

เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป สหภาพยุโรป และคณะมนตรียุโรป ขอแสดงความยืนหยัดอย่างแน่วแน่ถึงจุดยืนการต่อต้านโทษประหารชีวิต หรือการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่ในทุกกรณีและทุกสถานการณ์

เรายินดีกับการสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่มีเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในบทกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว ในปีที่แล้ว จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

แม้จะมีกระแสเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร แต่โทษประหารยังคงถูกปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศ โดยในปี  ค.ศ. 2023 ประเทศที่มีตัวเลขการประหารชีวิตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา จากรายงานต่างๆ พบว่าอิหร่านมีสัดส่วนในการประหารชีวิตมากถึง 74% ของตัวเลขการประหารชีวิตที่ถูกบันทึกไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ การใช้ไนโตรเจน ไฮโปเซียเพื่อการประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นวิธีที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่ และถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างมาก เบลารุสเป็นประเทศเดียวในทวีปยุโรปที่ยังคงมีการประหารชีวิตอยู่

เราขอเรียกร้องให้รัฐไม่กี่แห่ง ที่ยังคงมีการประหารชีวิตเหลืออยู่ เริ่มออกมาตรการพักการประหารชีวิตชั่วคราว เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การยกเลิกโทษประหารอย่างสมบูรณ์

ผู้สนับสนุนโทษประหารชีวิตมักเสนอเหตุผลว่าโทษนี้ช่วยยับยั้งอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม หลักฐานชี้ชัดว่าโทษประหารชีวิตมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยในการยับยั้งหรือลดอาชญากรรม โทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ โทษประหารชีวิตยังทำให้ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่สามารถถูกแก้ไขหรือเยียวยาได้อีกเลย

คณะมนตรียุโรปและสหภาพยุโรปมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านแนวคิดที่สนับสนุนการนำโทษประหารกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงในยุโรป และส่งเสริมการอภิปรายอย่างเปิดเผยและเป็นประชาธิปไตยไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิงในทุกที่ของโลก เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการปรับปรุงความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนและภาคประชาสังคม

โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากอดีต ซึ่งไม่ควรมีอยู่ในศตวรรษที่ 21 และต้องถูกยกเลิกทันที